สารบัญเรื่อง [แสดง]
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica L.
• ชื่อสามัญ : Mango (Kaew variety)
• ชื่อท้องถิ่น :
กลาง และทั่วไป
– มะม่วงแก้ว
ภาคอีสาน
– มะม่วงบ้าน
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะม่วงแก้วเป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว และกัมพูชา โดยในไทยพบมากที่สุดในภาคอีสาน รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และกลาง ส่วนภาคใต้พบได้น้อยลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นมะม่วงแก้ว เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีอายุประมาณ 10-20 ปี ลำต้นสูงประมาณ 15-20 เมตร ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำ เป็นทรงพุ่มกลม กิ่งหลัก และกิ่งแขนงมีมาก จนแลดูเป็นทรงพุ่มหนา เปลือกลำต้นแตกร่องเป็นแผ่นสะเก็ด สีเปลือกลำต้นมีสีดำอมเทา
ใบ
ใบมะม่วงแก้ว ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันตามปลายกิ่ง ใบมีก้านใบสีเขียว ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ใบมีรูปหอก โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร
ดอก
มะม่วงแก้ว ออกดอกเป็นช่อแขนง แทงออกบริเวณยอดกิ่ง แต่ละช่อแขนงประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก โดยเป็นดอกเพศผู้ และดอกสมบูรณ์เพศ ซึ่งอยู่ในช่อเดียวกัน ทั้งนี้ ดอกมะม่วงแก้วจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคม และติดผลทั่วทั้งต้นในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์
ผล และเมล็ด
ผลมะม่วงแก้ว มีรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กถึงปานกลาง ขนาดผลประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 200 – 300 กรัม/ผล เปลือกผลบาง ประมาณ 0.12 เซนติเมตร เนื้อผลดิบค่อนข้างเหนียว มีรสเปรี้ยว และส่งกลิ่นหอม เนื้อผลสุกอ่อนนุ่ม และฉ่ำน้ำ มีเส้นใยบริเวณเปลือกด้านใน เนื้อมีรสหวานอมเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม เมื่อสุกจัดจะมีรสหวานมาก มีความหวานประมาณ 22 องศาบริกซ์ (3)
ชนิดมะม่วงแก้ว
1. มะม่วงแก้วดำมะม่วงแก้วดำ หรือบางพื้นที่เรียก มะม่วงแก้วแดง มีลักษณะเด่น คือ ผลมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างป้อม และสั้น เนื้อผลหนา ผลดิบมีเปลือกสีเขียวเข้ม และมีจุดประสีขาว เมื่อห่ามมีสีเขียวอมเหลือง ส่วนผลสุกเปลือกจะมีสีเหลือง เนื้อด้านในมีมีสีแดงหรือแดงเข้ม พบได้ในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
2. มะม่วงแก้วเขียว
มะม่วงแก้วเขียว มีลักษณะเด่น คือ ผลมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างยาว เนื้อผลหนา ผลดิบมีเปลือกสีเขียวอ่อน คล้ายกับสีของมะม่วงอกร่อง ส่วนเนื้อผลด้านในมีสีขาว เมื่อสุก เปลือกผลมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม เป็นชนิดมะม่วงแก้วที่พบมากในภาคอีสาน
3. มะม่วงแก้วขาว/มะม่วงแก้วขมิ้น
มะม่วงแก้วขาว หรือบางพื้นที่เรียก มะม่วงแก้วทอง หรือ มะม่วงแก้วขมิ้น เป็นมะม่วงที่นิยมมาก มีลักษณะเด่น คือ ผลดิบมีสีเขียวอ่อน และมีนวล เนื้อมีสีเหลือง เมื่อสุกเปลือกมีสีเหลืองนวล ส่วนเนื้อมีสีเหลืองอมแดง แต่จะแดงน้อยกว่ามะม่วงแก้วดำ พบได้ในภาคกลาง บริเวณจังหวัดสิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี
4. มะม่วงแก้วจุก
มะม่วงแก้วจุก เป็นพันธุ์มะม่วงแก้วที่ได้รับความนิยมมาก มีลักษณะเด่นคล้ายกับมะม่วงแก้วขาวผสมกับแก้วดำ ผลดิบมีเปลือกสีเขียวอมขาว ผลสุกมีสีเหลืองนวล ผลมีขนาดใหญ่กว่าแก้วดำหรือแก้วขาว และบริเวณขั้วผลโผล่นูนขึ้นเล็กน้อย ซึ่งต่างจากพันธุ์อื่นๆที่ขั้วผลบุ๋มลงเป็นร่อง เพิ่มเติมจาก (4)
ประโยชน์มะม่วงแก้ว
1. มะม่วงแก้วดิบมีรสเปรี้ยวพอเหมาะ เนื้อมีความกรอบ จึงนิยมรับประทานผลดิบจิ้มกับพริกเกลือ รวมถึงใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร อาทิ ข้าวคลุกกะปิ เป็นต้น2. มะม่วงแก้วสุกมีเนื้อสีเหลืองทองหรือเหลืองอมแดงตามสายพันธุ์ เนื้อมีความนุ่ม และเหนียว ไม่เละง่าย มีความหวานพอเหมาะ จึงนิยมรับประทานเป็นผลไม้ รวมถึงใช้ทำขนมหวาน อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น
3. มะม่วงแก้วดิบแปรรูปเป็นมะม่วงดอง เนื่องจากมีรสไม่เปรี้ยวมาก เนื้อมีความหนามากกว่ามะม่วงอื่นๆ
4. มะม่วงแก้วสุกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในระดับชุมชน และอุตสาหกรรมที่ต้องการปริมาณมากในแต่ละปี อาทิ มะม่วงกวน มะม่วงเข้มข้นบรรจุกระป่อง มะม่วงอบแห้ง มะม่วงในน้ำเชื่อม และแยมมะม่วง เป็นต้น
5. ก้านยอดอ่อน และยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว โดยก้านยอดอ่อนมะม่วงแก้ว นำมาลอกเปลือกรับประทานเป็นผักคู่กับกับข้าวอื่นๆ รวมถึงใช้ยอดอ่อนรับประทานคู่ด้วย
6. เปลือกลำต้นด้านในนำมาต้มย้อมผ้า ให้ผ้าสีน้ำตาล
7. เนื้อไม้แปรรูปเป็นไม้แผ่นสำหรับปูพื้น ปูฝ้า ทำวงกบ รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ต่างๆ
ที่มา : (1) กองโภชนาการ (2544)
คุณค่าทางโภชนาการ (มะม่วงแก้ว 100 กรัม)
มะม่วงแก้วดิบ | มะม่วงแก้วสุก | ||
Proximates | |||
น้ำ | กรัม | 81.0 | 76.7 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 76 | 93 |
โปรตีน | กรัม | 0.5 | 0.6 |
ไขมัน | กรัม | 0.2 | 0.1 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 18.1 | 22.4 |
เส้นใย | กรัม | 2.4 | 1.6 |
เถ้า | กรัม | 0.2 | 0.2 |
Minerals | |||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 14 | 34 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 2 | 10 |
เหล็ก | มิลลิกรัม | พบปริมาณน้อย | พบปริมาณน้อย |
Vitamins | |||
เรตินอล | ไมโครกรัม | – | – |
เบต้า แคโรทีน | ไมโครกรัม | 219 | 1768 |
วิตามิน A, RE | RE | 37 | 295 |
วิตามิน E | มิลลิกรัม | – | – |
ไทอะมีน | มิลลิกรัม | 0.05 | 0.05 |
ไรโบฟลาวิน | มิลลิกรัม | 0.02 | 0.06 |
ไนอะซีน | มิลลิกรัม | 0.2 | 1.1 |
วิตามิน C | มิลลิกรัม | 28 | 35 |
ที่มา : (1) กองโภชนาการ (2544)
สารอาหารอื่นๆ (5) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
– น้ำตาลซูโครส 14.89%
– น้ำตาลซูโครส 0.73%
– น้ำตาลซูโครส 2.87%
– กรดออกซาลิก 0.00149%
– กรดซิตริก 0.02350%
– กรดมาลิค 0.05097%
– กรดมาโลนิค 0.01075%
– กรดซัคซินิค 0.09608%
– กรดฟอร์มิก 0.00523%
– กรดอะซิติก 0.00769%
– กรดฟูมาริก 0.00009%
สรรพคุณมะม่วงแก้ว (2)
– ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด
– ปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด
– ช่วยป้องกันโรคอ้วน
– ช่วยลดการเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
– ป้องกันโรคมะเร็ง
– กระตุ้นการทำงานของลำไส้
การปลูกมะม่วงแก้ว
มะม่วงแก้ว เป็นที่นิยมปลูก เนื่องจากทั้งผลดิบ และผลสุกเป็นที่นิยมมาก นอกจากนั้น มะม่วงแก้วยังเป็นมะม่วงพันธุ์ที่ออกลูกดกมาก เติบโตเร็ว ต้านทานโรค และแมลงได้ดี รวมถึงสามารถปลูกได้ในทุกสภาพดินลักษณะเด่นมะม่วงแก้ว
1. ติดลูกดก
2. เติบโตเร็ว ไม่จำเป็นต้องดูแลมาก
3. ทนแล้ง
4. ทนต่อโรค และแมลง
5. เป็นที่นิยมรับประทานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งผลสุก และผลดิบ
6. เปลือกผลสุกมีสีเหลืองสวยงาม
7. เนื้อผลดิบมีความกรอบ เนื้อหนา
8. เนื้อผลสุกเหนียว แน่น ไม่เละง่าย มีรสหวานที่พอเหมาะ
9. แปรรูปได้หลายหลาย อาทิ มะม่วงดอง มะม่วงกวน มะม่วงในน้ำเชื่อม เป็นต้น
10. ต้นทุนการปลูก และการดูแลต่ำ
ลักษณะด้อยมะม่วงแก้ว
1. มีหลายสายพันธุ์ ทำให้บางพันธุ์มีราคาต่ำ
2. ช่อดอกไม่ทนฝน
3. เมล็ดมีขนาดใหญ่
4. ลำต้นแตกทรงพุ่มกว้าง และใหญ่
รูปแบบการปลูกมะม่วงแก้ว
1. การปลูกเพื่อรับประทานเอง
การปลุกมะม่วงแก้วรูปแบบนี้ พบได้ทั่วไปในทุกภาค ซึ่งเป็นการปลุกในระดับครัวเรือน ปลูกเพียงไม่กี่ต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับประทานเองหรือเพื่อให้ร่มเงา เกษตรกรมักปลูกไว้หน้าบ้านหรือหลังบ้าน เพียง 1-2 ต้น หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนา โดยหลังการปลูกเกษตรกรจะปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการดูแลหรือเอาใจใส่มาก
2. การปลูกในแปลงใหญ่เพื่อจำหน่าย
การปลูกรูปแบบนี้ เป็นการปลูกในแปลงใหญ่ จำนวนหลายสิบต้น ตั้งแต่ 1 ไร่ จนถึงหลายสิบไร่ ซึ่งกระจายในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยมีการเตรียมแปลงก่อนปลูก มีการวางระยะห่างให้เหมาะสม มีการกำจัดวัชพืช การให้ปุ๋ย การให้น้ำ การตัดแต่งกิ่ง การห่อผล และการเก็บผลที่ถูกวิธี
ชนิดต้นพันธุ์ และลักษณะการปลูกมะม่วงแก้ว
1. ต้นพันธุ์จากกิ่งตอน โดยการตอนกิ่งจากต้นพ่อแม่พันธุ์ ก่อนนำมาเพาะต่อในถุงเพาะชำจนตั้งตัวได้ แล้วค่อยนำลงปลูกในแปลง
2. ต้นพันธุ์จากการเสียบยอด แบ่งเป็น
– การเสียบยอดในถุงเพาะชำ ด้วยการเพาะต้นตอจากเมล็ดให้ได้ขนาด ก่อนตัดกิ่งพันธุ์มาเสียบยอด หลังจากนั้นดูแลจนตั้งต้นได้ ก่อนนำลงปลูกในแปลง
– เสียบยอดในแปลงปลูก ด้วยการปลูกต้นตอที่ได้จาการเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำปลูกลงแปลงก่อน เมื่อต้นตอตั้งตัวได้ และได้ขนาด จึงนำกิ่งพันธุ์มาเสียบยอด
การเตรียมแปลงปลูก และหลุมปลูก
แปลงปลูกครั้งแรกที่เคยปลูกพืชอื่นมากก่อน จำเป็นต้องไถพรวนดินก่อน 1 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืชออกก่อน จากนั้น ทำการขุดหลุมปลูก กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และลึกประมาณ 50 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างระหว่างหลุม และแถวที่ 6-8 x 6-8 เมตร โดยวางแนวกว้างในทิศตะวันออก-ตะวันตก จากนั้น ตากหลุมไว้ 5-7 วัน
วิธีการปลูก
การปลูกควรปลูกในต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งต้องเตรียมแปลง และหลุมปลูกให้เสร็จก่อน และหลังจากตากหลุมจนครบกำหนดแล้ว ให้โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 5 กำมือ และปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงคลุกผสม หลังจากนั้น ฉีกถุงเพาะออก แล้วนำต้นพันธุ์ลงปลูก พร้อมเกลี่ยดินกลบให้พูนโคนต้นขึ้นมาเล็กน้อย จากนั้น ใช้ไม้ไผ่ปักข้างลำต้น พร้อมใช้เชือกฟางรัดพอหลวมๆ
การให้น้ำ
หลังการปลูกในช่วงแรก หากฝนไม่ตกจะต้องให้น้ำอย่างน้อยวันเว้นวัน แต่หากฝนตก และหน้าดินชุ่ม ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ และในปีแรกที่ถึงช่วงหน้าแล้ง ควรให้น้ำประมาณ 3-5 วัน/ครั้ง เป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นที่เข้าระยะปีที่ 2 ควรให้น้ำบ้างในฤดูแล้ง ปีต่อไปไม่จำเป็นต้องให้น้ำ
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยระยะก่อนให้ต้นติดผล คือ 1-3 ปี ให้ใส่ปุ๋ยคอก ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ต้นฤดูฝน และครั้งที่ 2 ใส่ปลายฤดูฝน ก่อนหมดฝนประมาณ 1-2 เดือน อัตราปุ๋ยคอกประมาณ 1 ถังเล็ก/ต้น อัตราปุ๋ยเคมีประมาณ 1-2 กำมือ/ต้น และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ให้เปลี่ยนช่วงการใส่ปุ๋ยครั้งแรกเป็นก่อนการออกดอก และครั้งที่ 2 เป็นหลังการเก็บผลผลิต
การตัดดอก
มะม่วงแก้วที่ปลูกจากต้นพันธุ์ตอนหรือการเสียบยอด ควรให้ต้นมะม่วงมีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไปก่อน แล้วค่อยปล่อยให้ติดผล เพราะจะทำให้ต้นแตกกิ่งมาก โคนต้นแข็งแรง ดังนั้น ในระยะ 1-3 ปี หลังการปลูก หากต้นมะม่วงติดดอก ให้ตัดดอกทิ้งก่อน
การเก็บผลผลิต
หลังจากเข้าปีที่ 3 ให้ปล่อยต้นมะม่วงติดดอก และติดผลตามปกติ แล้วเก็บผลในระยะก่อนห่ามหรือสุกตามที่ตลาดต้องการหรือความต้องการจำหน่าย ซึ่งสามารถเก็บผลได้ในช่วง 3-4 เดือน หลังติดผล ประมาณปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม
ขอบคุณภาพจาก chiangraifocus.com/, prachachat.net/, technologychaoban.com/
เอกสารอ้างอิง
(1) กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544.-ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
(2) ลำพอง แต้มครบุรี, 2548. การประเมินสายต้นมะม่วงแก้วเพื่อ-
การแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง และเนคต้ามะม่วง. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(3) ธวัชชัย รัตน์ชเลศ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ-
รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์, 2546, มะม่วงแก้วไม้ผลเพื่อความหวัง-
และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ.
(4) ชรินทร เดชดำรงค์ปรีชา, 2533, พันธุ์มะม่วงแก้ว. คู่มือนักส่งเสริมการเกษตร (TACTICS), วิทยาเขตเกษตรชัยภูมิ.
(5) นิพัทธ์ ศรีตระกูล, 2549, การพัฒนากระบวนการผลิตไวน์มะม่วงแก้ว-
แบบต่อเนื่องในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ-
แบบเบดบรรจุโดยเซลล์ตรึงรูป-
SACCHAROMYCES CEREVISIAE, มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น