21 พ.ย. 2561

ต้นประดู่

ต้นประดู่

ประดู่ ชื่อสามัญ Burma Padauk, Narra[1], Angsana Norra, Malay Padauk[2], Burmese Rosewood, Andaman Redwood, Amboyna Wood[3], Indian rosewood[4] 

ประดู่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[2],[3]
สมุนไพรประดู่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดู่บ้าน (ภาคเหนือ), ประดู่บ้าน ประดู่ลาย ประดู่กิ่งอ่อน อังสนา (ภาคกลาง), สะโน (มาเลย์-นราธิวาส), ดู่, ประดู่ป่า, ประดู่ไทย เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นประดู่

  • ต้นประดู่ เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย และอยู่ในแถบอันดามัน มัทราช เบงกอล[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย[2] ต้นประดู่จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-25 เมตร หรืออาจสูงกว่า จะผลัดใบก่อนการออกดอก แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้าง และปลายกิ่งห้อยลง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลเทา แตกหยาบ ๆ เป็นร่องลึก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ต้องการน้ำปานกลาง เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทางภาคใต้ สามารถปลูกได้ทั่วไป[3]
ต้นประดู่
ต้นประดู่บ้าน
  • ใบประดู่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกรวมกันเป็นช่อ ๆ ใบออกเรียงสลับ แต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 7-13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปมนรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-13 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียว ผิวใบมีขนสั้น ๆ ปกคลุมด้านท้องใบมากกว่าด้านหลังใบ ก้านใบอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เส้นแขนงใบถี่โค้งไปตามรูปใบ เป็นระเบียบ โคนก้านใบมีหูใบ 2 อัน ลักษณะเป็นเส้นยาว[3]
ใบประดู่
  • ดอกประดู่ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง โคนก้านมีใบประดับ 1-2 อัน ลักษณะเป็นรูปรี กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วยสีเขียว ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองแกมแสด ลักษณะของกลีบเป็นรูปผีเสื้อ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็น 2-3 กลุ่ม ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอมแรง จะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[2],[3]
ประดู่บ้าน
ดอกประดู่
  • ผลประดู่ ผลเป็นผลแห้งแบบ samaroid ลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือรีแบน ที่ขอบมีปีกบางคล้ายกับใบโดยรอบคล้าย ๆ จานบิน แผ่นปีกบิดและเป็นคลื่นเล็กน้อย นูนตรงกลางลาดไปยังปีก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร ส่วนบริเวณปีกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ที่ผิวมีขนละเอียด ตรงกลางนูนป่องเป็นที่อยู่ของเมล็ด โดยภายในจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีความนูนประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวแกมเหลือง เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผิวสัมผัสขรุขระเมื่อผลแก่ ส่วนเมล็ดมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วแดง ผิวเรียบสีน้ำตาล ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[3],[4]
ผลประดู่
ผลประดู่บ้าน
เมล็ดประดู่
หมายเหตุ : ต้นประดู่ชนิดนี้ (ต้นประดู่บ้าน) เป็นต้นประดู่ที่พบเห็นได้ทั่วไป และเป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นประดู่ดั้งเดิมของไทยหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ต้นประดู่ป่า” (Pterocarpus macrocarpus Kurz.)

สรรพคุณของประดู่

  1. เปลือกต้นมีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)[2]
  2. แก่นเนื้อไม้ประดู่ มีรสขมฝาดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น)[2],[4]
  3. แก่นเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ (แก่น)[1],[2],[4] ส่วนรากใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ (ราก)[4]
  4. แก่นเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้เสมหะ (แก่น)[1],[2],[4]
  5. ใบนำมาตากแห้งใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นชาใบประดู่ นำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการระคายคอได้ (ใบ)[4]
  6. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้แก่นเนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (แก่น)[1],[2]
  7. ผลมีรสฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (ผล)[2]
  8. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ปากแตก (เปลือกต้น)[4] ส่วนยางก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคปากเปื่อยได้เช่นกัน (ยาง)[4]
  9. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ผล)[2]
  10. เปลือกต้นและยางมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น, ยาง)[2],[4]
  11. ใช้เป็นยาแก้โรคบิด (เปลือกต้น)[4]
  12. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาขับยาเสมหะ (แก่น)[2]
  13. ใบอ่อนนำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกแผล พอกฝี จะช่วยทำให้ฝีสุกหรือแห้งเร็ว (ใบอ่อน)[1],[2],[4]
  14. ใบอ่อนใช้ตำพอกแก้ผดผื่นคัน (ใบอ่อน)[1],[2],[4] ส่วนแก่นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ผื่นคันเช่นกัน (แก่น)[2]
  15. ยางไม้ประดู่มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Gum Kino” สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสียได้ (ยางไม้)[1]
  16. แก่นเนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้โรคคุดทะราด ด้วยการนำแก่นไม้มาต้มกับน้ำกิน (แก่น)[1],[2]
  17. เปลือกต้นมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาสมานบาดแผล (เปลือกต้น)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประดู่

  • เมื่อนำส่วนของเปลือก ราก และใบมาสกัดด้วยตัวทำละลาย พบว่าสารที่พบได้ในทุกส่วนของประดู่ คือ Flavonoid Tannin และ Saponin ส่วนสารสำคัญที่ได้จากการค้นคว้าข้อมูลอื่น พบว่ามีสาร Angiolensin Homopterocarpin, Formonoetin, Isoliquirtigenin, Narrin , Pterostilben, Pterocarpin, Pterofuran, Pterocarpon, Prunetin, Santalin, P-hydroxyhydratropic acid, β-eudesmol ส่วนใบพบว่ามีคลอโรฟิลล์ 3 ชนิด คือ Chlorophyll a Chlorophyll b และ Xanthophyll[4]
  • ประดู่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แก้อาการปวด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ยับยั้งการแบ่งเซลล์ ยับยั้งเอนไซม์ Ornithine decarboxylase และยับยั้ง Plasmin ฤทธิ์คล้ายเลคติน ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกัน[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยใช้สารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นประดู่ 50% เมื่อนำมาฉีดเข้าท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายคือขนาดมากกว่า 1 กรัม[4]

ประโยชน์ของต้นประดู่

  1. ใบอ่อนและดอกประดู่สามารถนำมาลวกรับประทานเป็นอาหารได้ และยังสามารถนำมาชุบแป้งทอดรับประทานกับน้ำจิ้มเป็นอาหารว่างได้อีกด้วย[2],[4]
  2. ไม้ประดู่ เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีคุณภาพดี เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อละเอียดปานกลาง ปลวกไม่ทำลาย สีสวย มีลวดลายสวยงาม ตกแต่งขัดเงาได้ดี นิยมนำมาใช้สร้างบ้านเรือน ทำฝาบ้าน พื้นบ้าน ทำเสา ทำคาน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง ๆ หรือนำมาใช้ทำเกวียน ทำเรือคานและเรือทั่ว ๆ ไป รวมทั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือด้วย เพราะไม้ประดู่มีคุณสมบัติทนน้ำเค็ม ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด จานรองแก้ว ทัพพี ฯลฯ เครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ระนาด เป็นต้น นอกจากนี้ประดู่บางต้นยังเกิดปุ่มตามลำต้น หรือที่เรียกว่า “ปุ่มประดู่” จึงทำให้ได้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูงและงดงาม แต่จะมีราคาแพงมากและหาได้ยาก นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างดีเยี่ยม[2],[4]
  3. เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง เปลือกและแก่นประดู่ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้ดี โดยเปลือกจะให้สีน้ำตาล ส่วนแก่นจะให้สีแดงคล้ำ[2]
  4. ใบมีรสฝาด สามารถนำมาชงกับน้ำใช้สระผมได้[2]
  5. คนไทยนิยมนำต้นประดู่มาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารหรือสถานที่สาธารณะ เช่น ตามสวนหรือทางเดินเท้า ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาและให้ความสวยงาม อีกทั้งยังช่วยกำจัดอากาศเสีย ช่วยกรองฝุ่นละออง และกันลมกันเสียงได้ดีอีกด้วย ดังจะเห็นได้ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ ที่จะใช้ประโยชน์จากต้นประดู่มากเป็นพิเศษ[2]
  6. ในด้านเชิงอนุรักษ์ ต้นประดู่เป็นไม้เรือนยอดกลมโต มีความแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันลมและคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้นได้ และยังช่วยรองรับน้ำฝนช่วยลดแรงปะทะหน้าดิน ประกอบกับมีระบบรากหยั่งลึกและแผ่กว้างที่ช่วยยึดหน้าดินไว้ไม่ให้พังทลายได้ง่าย และรากที่มีปมขนาดใหญ่ยังช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์อีกด้วย ส่วนใบที่หนาแน่น เมื่อร่วงหล่นก็จะเกิดการผุพังกลายเป็นธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้เป็นอย่างดี
  7. ในด้านข้อความเชื่อ หากบ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน เชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่ เพราะประดู่หมายถึงความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ให้ปลูกต้นประดู่ไว้ทางทิศตะวันตกและให้ปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกกันในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
  8. ในด้านของการเป็นสัญลักษณ์ ดอกประดู่เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า ส่วนต้นประดู่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต และโรงเรียนอีกหลายแห่งในประเทศไทย (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
 สถานที่พบเห็น : หลังอาคาร3, สวนพฤษศาสตร์, หน้าอาคาร1

ที่มา: https://medthai.com/ประดู่บ้าน/
Share:

ความหมายของพฤกษศาสตร์


พฤกษศาสตร์ 
 
พฤกษศาสตร์ (อังกฤษ: Botany) หรือ ชีววิทยาของพืช (อังกฤษ: Plant Biology) หรือ วิทยาการพืช,พืชศาสตร์ (อังกฤษ: Plant Science) เป็นสาขาวิชาหนึ่งของชีววิทยา ที่ศึกษาเกี่ยวกับพืชและการเจริญเติบโต พฤกษศาสตร์มีขอบเขตการศึกษาที่กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่พืช สาหร่าย และเห็ดรา ศึกษาทั้งในด้านโครงสร้าง การเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ เมแทบอลิซึม โรค และคุณสมบัติทางเคมีและความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการระหว่างกลุ่มต่าง ๆ การศึกษาทางด้านพฤกษศาสตร์เริ่มต้นจากความรู้ที่สืบต่อกันมา จากการจำแนกพืชที่กินได้ พืชสมุนไพรและพืชมีพิษ เป็นศาสตร์ที่เก่าแก่สาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ จากความสนใจในเรื่องพืชของบรรพบุรษทำให้ปัจจุบันจำแนกสิ่งมีชีวิตในด้านพฤกษศาสตร์มากกว่า 550,000 ชนิดหรือสปีชีส์
 ที่มา :  https://th.wikipedia.org/wiki/พฤกษศาสตร์
Share:

About Me

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริบางประการเกี่ยวกับ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช "การสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควร ใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจ และเกิดความปิติที่จะทำการ ศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว"

BTemplates.com

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ค้นหาบล็อกนี้

ร้านรอยลายยอ (ROI LAI YOR)

ร้านรอยลายยอ (ROI LAI YOR)
ร้านรอยลายยอ (ROI LAI YOR)