19 ธ.ค. 2561

ทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง

รหัสพรรณไม้ : 7-36210-001-003/8
ชื่อพื้นเมือง : ทองพันชั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhinacanthus nasutus Kurz
ชื่อวงศ์ : Acanthaceae
ลักษณะวิสัย : ไม้พุ่ม
บริเวณที่พบ : สวนพฤษศาสตร์

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Rhinacanthus nasutus Kurz หรือชื่ออื่นๆ เช่น ทองคันชั่ง หญ้ามันไก่ หรือต้นดอกข้าวเม่า มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5-2 เมตร กิ่งอ่อนและลำต้นมักเป็นเหลี่ยม ใบมีลักษณะเป็นทรงรีคล้ายรูปไข่ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อสั้นตามซอกกิ่ง มีสีขาว ปลายกลีบแยกเป็น 2 กลีบ กลีบรองดอกมี 5 กลีบ มีขน ผลมีลักษณะเป็นฝักและมีขน ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร 




สรรพคุณ
ทองพันชั่ง เป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทุกส่วนของต้นทองพันชั่ง ตั้งแต่ ราก, ลำต้น และใบ สามารถนำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยาได้ทั้งหมดดังนี้...
  • ราก แก้ปัญหาผิวหนัง แก้ผื่นคันเรื้อรัง แก้กลาก เกลื้อน  ดับพิษไข้ และแก้พิษงู
  • ต้น ช่วยบำรุงร่างกาย และดูแลเรื่องผมร่วง
  • ใบ ช่วยดับพิษไข้ แก้กลาก เกลื้อน แก้ผื่นคัน แก้อาการไขข้ออักเสบ ปัญหาผิวหนัง ปัญหาผมร่วง ทำให้ผมดกดำ ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย แก้ปัสสาวะขัด และช่วยระบบให้กระเพาะอาหารทำงานดีขึ้น
  • ทั้งต้น แก้ปัญหาผิวหนัง แก้กลาก เกลื้อน แก้ผดผื่นคัน แก้น้ำเหลืองเสีย และแก้อาการปัสสาวะผิดปกติ
              ทั้งนี้ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 67  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2542 กำหนดให้ตำรับยาแก้กลาก เกลื้อน เป็นตำรับยาที่มีตัวยาดังต่อไปนี้ตัวยาใดตัวยาหนึ่ง หรือหลายตัวเป็นตัวยาสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ใบทองพันชั่ง รวมอยู่ด้วย

รายงานผลการค้นคว้าและทดลอง

• พ.ศ. 2558 ผศ.ดร.เทวิน เทนคำเนาว์ ภาควิชาเคมีคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “ฤทธิ์และกลไกของสารสกัดจากทองพันชั่งในการต้านความเสื่อมของเซลล์ประสาท” เนื่องจากภาวะพร่องออกซิเจนเป็นสาเหตุหลักของความเสียหายของเซลล์ประสาท มีการตายของเซลล์ที่เกิดจากภาวะพร่องออกซิเจน นำไปสู่โรคความเสื่อมของระบบประสาทต่างๆ เช่น โรคความจำเสื่อม และโรคหลอดเลือดสมอง ในขณะที่ทองพันชั่งซึ่งเป็นพืชล้มลุกอยู่ในวงศ์ Acanthaceae พบในประเทศไทยและทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ทราบกันว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดโดยใช้เอธานอลจากรากของทองพันชั่ง ความเข้มข้น 1 และ 10 µg/mL สามารถป้องกันการตายของเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงชนิด HT-22 ที่อยู่ในภาวะพร่องออกซิเจนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สารสกัดจากพืชชนิดนี้สามารถลดอนุมูลอิสระในเซลล์ได้ นอกจากนี้สารสกัดจากใบและรากของทองพันชั่งด้วยเอทานอลยังมีฤทธิ์ในการลดปริมาณเซลล์ตายจากพิษของกลูตาเมต และอะไมลอยด์-เบตา ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียเซลล์ประสาทในโรคต่างๆ รวมถึง
โรคอัลไซเมอร์ โดยสารสำคัญในทองพันชั่งที่ออกฤทธิ์ปกป้องเซลล์จากความเป็นพิษของกลูตาเมต คือลูพีออล สทิกมาสเทอรอล และเบตา-ซิโตสเทอรอล ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2558 สาขางานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

• พ.ศ. 2548 รองศาสตราจารย์ ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง คงคาทิพย์ นักวิจัยภาควิชาเคมี ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สังเคราะห์สารอนุพันธ์แนพโทควิโนน
เอสเทอร์ จากสารต้นแบบที่ได้จากต้นทองพันชั่ง มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูกได้สำเร็จ โดย “แนพโทควิโนนเอสเทอร์” ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง จากสารต้นแบบที่ได้จาก “ต้นทองพันชั่ง” แม้ว่าสารประกอบประเภท “แนพโทควิโนนเอสเทอร์” ที่แยกได้จากต้นทองพันชั่ง จะมีออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ แต่ยังมีปริมาณน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับการออกฤทธิ์ และหาสารตัวใหม่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งที่ดีกว่ายาปัจจุบัน ดังนั้นทีมวิจัยจึงทำการสังเคราะห์สารอนุพันธ์แนพโทควิโนนเอสเทอร์ รวมทั้งไรนาแคนทินไปพร้อมๆ กัน โดยผลจากการทดสอบการออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเยื่อบุช่องปากมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูกนั้น พบว่า สารประกอบแนพโทควิโนนเอสเทอร์ ที่มีส่วนของเอสเทอร์ ที่เป็นอนุพันธ์ของอะโรมาติก จะให้ผลการออกฤทธิ์ดีกว่าเอสเทอร์ที่เป็นอนุพันธ์ของโซ่อะลิฟาติก ซึ่งจะไม่ออกฤทธิ์ หรือออกฤทธิ์เล็กน้อยถึงปานกลาง การวิจัยครั้งนี้ ทำให้วิจัยสามารถค้นพบสารใหม่ ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ถึง 35 ชนิดอีกด้วย

• พ.ศ. 2545 ผศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของทองพันชั่ง ต่อเชื้อรา 6 ชนิด ได้แก่ Microsporum gypseum Trichophyton rubrum (สาเหตุของโรคกลาก) Epidermophyton floccosum Candida albicans (สาเหตุของการตกขาว) Cryptococcus neoformans และ Saccharomyces sp. พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และคลอโรฟอร์ม มีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ดีพอสมควร นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดใบทองพันชั่งด้วยเอธิลอะซีเตต และสาร rhinacanthin-C ซึ่งเป็นสารประกอบหลักในใบทองพันชั่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อราชนิด Microsporum gypseum, Trichophyton rubrum และ T. mentragophyte ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลากได้
          ในงานสาธารณสุขมูลฐานใช้ทองพันชั่งในการรักษากลากเกลื้อน โดยใช้ใบ (สดหรือแห้ง) หรือราก (สดหรือแห้ง) ตำให้ละเอียด แช่เหล้าหรือแอลกอฮอล์พอท่วมตั้งไว้ 7 วัน นำน้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ หรือทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย เมื่อหายแล้วให้ทาต่ออีก 7 วัน เหตุที่ต้องแช่ไว้นาน 7 วัน เป็นเพราะน้ำยาที่ยังแช่ไม่ครบกำหนดจะมีฤทธิ์กัดผิวหนัง ถ้านำไปทาจะทำให้ผิวหนังแสบและคันมากขึ้น น้ำยาจากรากแห้งกัดผิวมากกว่าใบแห้ง ส่วนน้ำยาจากใบสดไม่กัดผิว

เอกสารอ้างอิง
http://thaiherbal.org, http://www.ku.ac.th, http://www.chula.ac.th
Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. การใช้งาน singha66 สำหรับธุรกิจของคุณที่ต้องการเข้าสู่การขายสินค้าออนไลน์ การใช้งาน singha66 PG SLOT จะเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างแน่นอนครับ ด้วยความสะดวกและคล่องตัวในการใช้งาน

    ตอบลบ

About Me

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริบางประการเกี่ยวกับ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช "การสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควร ใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจ และเกิดความปิติที่จะทำการ ศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว"

BTemplates.com

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ค้นหาบล็อกนี้

ร้านรอยลายยอ (ROI LAI YOR)

ร้านรอยลายยอ (ROI LAI YOR)
ร้านรอยลายยอ (ROI LAI YOR)